อัมพฤกษ์ อัมพาต รู้ทัน ป้องกันได้
อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย หากเป็นแล้วจะทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ดูน่ากลัวแต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ และควรทำความเข้าใจโรคนี้เพื่อให้ตัวเรา และคนในครอบครัวห่างไกลจากโรคร้ายนี้ด้วย
อัมพฤกษ์ อัมพาตคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่เซลล์สมองขาดเลือด โดยมีสาเหตุจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน (Ischemic stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากถึง 80% และอีก 20% คือสาเหตุจากการมีเลือดออกในสมอง (Haemorrhage)
โรคทั้งสองเป็นโรคที่เราได้ยินชื่ออยู่บ่อยๆ เป็นกลุ่มโรคเดียวกัน แตกต่างกันที่ความรุนแรง ดังนี้
- โรคอัมพฤกษ์ คือ ภาวะที่แขนขาอ่อนแรง แต่ยังพอใช้งานได้ เกิดความรู้สึกชาตามร่างกาย
- โรคอัมพาต คือ ภาวะที่แขนขาอ่อนแรง ใช้งานไม่ได้ กล่าวคืออัมพฤกษ์จะยังพอสามารถขยับร่างกายได้ แต่อัมพาตจะไม่สามารถขยับได้เลย
สัญญาณเตือน “อัมพฤกษ์ อัมพาต”
- มีอาการชา หรือแขนขาอ่อนแรง
- ตามัว หรือมองไม่เห็น
- พูดไม่เข้าใจ หรือสื่อสารไม่ได้
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงพิการ และเป็นโรคที่อาจไม่มีสัญญาณเตือนในบางบุคคล หากพบว่าคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายของโรคดังกล่าว หรือมีอาการอื่นๆซึ่งเข้าข่ายกับโรคหลอดเลือดสมองควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
โดยอาการของโรคหลอดเลือดสมอง จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย อาทิ
- มีอาการชา หรือกล้ามเนื้อใบหน้า หรือบริเวณแขนขาอ่อนแรง
- พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด
- ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด
- เดินเซ ทรงตัวลำบาก
ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดเปราะบาง
- โรคเบาหวาน ส่งผลให้หลอดเลือดเปราะบางฉีกขาดง่าย
- ไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดก้อนไขมันเกาะติดกับผนังหลอดเลือด
- การสูบบุหรี่เป็นประจำ ส่งผลให้ความหนืดของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- กรรมพันธุ์จากคนในครอบครัวไม่ว่าจะพ่อ แม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรงเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะโอกาสที่จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
อาการของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
อาการสมองขาดเลือดจะมีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเป็น ดังนี้
- อาการน้อย เซลล์สมองถูกทำลายบางส่วน โดยจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงขึ้นเฉพาะจุด เช่น อาจจะเป็นที่แขนอย่างเดียว หรือที่ขาอย่างเดียว เป็นต้น นอกจากนี้จะมีอาการเคลื่อนไหวช้าลง มุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ พูดไม่ชัด
- อาการอัมพฤกษ์ เซลล์สมองถูกทำลายมากขึ้น โดยจะมีอาการมุมปากตก แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
- อาการอัมพาต เซลล์สมองถูกทำลายถาวร โดยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือไม่สามารถขยับได้ พูดไม่ได้ มุมปากตก ความรู้สึกตัวลดลง เป็นต้น
ป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างระดับน้ำตาล ความดันโลหิต หรือระดับไขมันให้อยู่ในภาวะปกติ ที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพเพื่อจะได้ทราบถึงความผิดปกติของร่างกาย และทำการรักษาปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้อย่างอย่างทันท่วงที ซึ่งหากสามารถคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้โอกาสที่จะเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดในสมองก็จะน้อยลง โดยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ได้ดังนี้
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดการสูบบุหรี่ให้น้อยที่สุด
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อรักษาน้ำหนักให้ตรงตามเกณฑ์เสมอ
- หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรควบคุมให้น้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตเป็นปกติ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และลดอาหารที่มีรสเค็ม หรือหวานจัด
- หมั่นตรวจสุขภาพ และพบแพทย์เป็นประจำเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
การรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- การใช้ยาสลายลิ่มเลือด (rtPA)
มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสอาการดีขึ้นเพิ่มขึ้น ลดอัตราการพิการและเสียชีวิตได้ หากท่านมีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
- การรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง
ใช้ในกรณีเป็นเส้นเลือดสมองตีบเส้นใหญ่ หรือให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น
- การฝังเข็มเพื่อรักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต
การรักษาทางการแพทย์แผนจีนด้วยวิธีการฝังเข็ม มุ่งเน้นการกระตุ้นให้ระบบประสาทและสมองที่เสียหายมีการฟื้นตัวคืนมา ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองและร่างกายได้ดี กระตุ้นให้กล้ามเนื้อไม่ลีบและมีกำลังแข็งแรง ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้ดีกว่า ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ให้การรับรองว่าการฝังเข็มเป็น “ทางเลือกที่สมเหตุสมผล” ในการรักษาวิธีการรักษา
- การรักษาทางกายภาพบำบัด
ในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต นับเป็นระยะที่ดีที่สุดในการฟื้นฟู โดยใน 3 เดือนแรก ร่างกายจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว ดังนั้นหากเริ่มทำกายภาพเร็ว ก็จะสามารถฟื้นฟูร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งนี้การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยจะเน้นในเรื่อง..
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแต่ละมัด
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อลดการยึดติดของข้อต่อส่วนต่างๆ
- ฝึกการเคลื่อนไหวตัวบนเตียง ฝึกการทรงตัวในท่านั่ง, ยืนและฝึกการเดินเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
- การรักษาด้วยเครื่อง TMS
แม้จะได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว แต่ยังพบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีปัญหาด้านการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา และการเกร็งของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีปัญหาต่อการช่วยเหลือตนเองและการประกอบกิจวัตรประจำวัน จากการศึกษาพบว่าหลังจากการกายภาพบำบัดฟื้นฟูแล้ว 6 เดือน ก็ยังมีผู้ป่วยอีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่สามารถเดินเองได้ ปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดหลอดเลือดสมองตีบและแตก ได้แก่ เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (Transcranial Magnetic Stimulation) ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วยังมีอาการอ่อนแรงหรือการเกร็งของกล้ามเนื้อ การบำบัดด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูและลดอาการเกร็งของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองได้
- หลักการของเครื่อง TMS คือ การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นสมองจากภายนอก โดยสามารถทำได้ทั้งการกระตุ้นสมองซีกที่มีปัญหา หรือยับยั้งสมองข้างตรงข้ามเพื่อปรับสมดุลในการทำงานของสมอง ซึ่งการกระตุ้นดังกล่าวจะเป็นการเร่งการเชื่อมต่อกันใหม่ของเซลล์ประสาท เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อดีขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อที่แขนขาเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อได้อีกด้วยโดยการรักษาด้วย TMS จะต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ประมาณ 5 - 10 ครั้งขึ้นไป ถึงจะเห็นผล
- การใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (TMS) มีความปลอดภัยมากและผลข้างเคียงต่ำ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีอาการชักมาก่อน หรือมีโลหะฝังอยู่ในสมอง เช่น คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น หรือฝังอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
- การใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (TMS) มีความปลอดภัยมากและผลข้างเคียงต่ำ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีอาการชักมาก่อน หรือมีโลหะฝังอยู่ในสมอง เช่น คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น หรือฝังอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
ถึงแม้ว่าโรคนี้อาจจะเป็นภัยเงียบและเป็นโรคอันตราย แต่หากเราป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย เฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถทุเลาระดับความรุนแรงของโรคลงได้เพื่อให้เกิดความพิการน้อยที่สุด และเป็นการป้องกันการเกิดโรคซ้ำอีกครั้ง หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หากเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบยังสามารถฉีดยาสลายลิ่มเลือดได้ทัน และมีโอกาสที่จะหายเป็นปกติเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มรู้สึกพบความผิดปกติต้องรีบมาพบแพทย์ อย่ารอดูอาการอยู่ที่บ้าน หากมีอาการเข้าข่างโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กฤษณะ ปานสัมฤทธิ์ แพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง